ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: ไฟฟ้าช็อต (Electric shock)  (อ่าน 49 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 584
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: ไฟฟ้าช็อต (Electric shock)
« เมื่อ: วันที่ 11 ธันวาคม 2024, 20:26:38 น. »
Doctor At Home: ไฟฟ้าช็อต (Electric shock)

ไฟฟ้าช็อต เป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยทั้งในบ้าน โรงเรียน โรงงาน และสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการใช้ไฟฟ้า

ผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อตอาจมีอาการรุนแรงแตกต่างกันไป (ตั้งแต่บาดแผลไหม้เพียงเล็กน้อยจนกระทั่งตาย) ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น

1. ลักษณะของผิวหนังส่วนที่สัมผัสถูกไฟฟ้า ถ้าผิวหนังแห้งจะมีความต้านทานสูง เกิดอันตรายน้อย แต่ถ้าผิวหนังเปียกชื้น (เช่น มีเหงื่อ หรือเปียกน้ำ) หรือมีบาดแผลสด (เช่น ถูกมีดบาด เข็มแทง หรือแผลถลอก) จะมีความต้านทานต่ำ เกิดอันตรายได้สูง

2. ชนิดของกระแสไฟฟ้า ไฟฟ้ากระแสตรง (direct current) เช่น ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ หรือถ่านไฟ จะทำอันตรายได้น้อย ส่วนไฟฟ้ากระแสสลับ (alternating current) จะทำอันตรายได้มาก

กระแสไฟฟ้าที่มีความถี่ต่ำ (เช่น ขนาด 50-60 รอบ/วินาที) จะมีอันตรายร้ายแรงกว่าความถี่สูง กระแสไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้านถือว่าเป็นชนิดที่มีอันตรายสูง

3. ตำแหน่งและทางเดินของกระแสไฟฟ้าในร่างกาย ถ้าไฟฟ้าวิ่งจากแขนไปแขน หรือแขนไปเท้า จะมีอันตรายกว่าจากเท้าลงดิน เพราะสามารถวิ่งผ่านและทำอันตรายต่อหัวใจ (ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ) ถ้ากระแสไฟฟ้าสามารถวิ่งผ่านสมอง ก็อาจทำให้หยุดหายใจได้ ถ้าวิ่งผ่านกล้ามเนื้อทำให้ชัก กระดูกหัก หรือกล้ามเนื้อเป็นอัมพาตได้

4. ระยะเวลาสัมผัส ถ้ายิ่งนานก็ยิ่งมีอันตราย ผิวหนังที่สัมผัสไฟฟ้านาน ๆ จะทำให้มีเหงื่อออก ซึ่งจะลดความต้านทานลง กระแสไฟฟ้าจะเข้าร่างกายได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความร้อนในร่างกายเป็นเหตุให้เกิดบาดแผลไหม้รุนแรงได้

สาเหตุ

เกิดจากความประมาทเลินเล่อ การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าผิดวิธีหรือจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์


อาการ

อาการขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว

บางรายเมื่อถูกไฟฟ้าช็อต อาจเพียงแต่ทำให้ล้มลงกับพื้น (ถ้าตกจากที่สูงก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้) หรือของหล่นจากมือ

ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีอาการชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย แล้วตามด้วยอาการตื่นเต้น หายใจเร็ว และหมดสติ อาจหยุดหายใจหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ทันที

บางรายอาจหมดสติชั่วครู่ เมื่อฟื้นขึ้นมาอาจรู้สึกปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และมีความรู้สึกหวาดผวาได้


ภาวะแทรกซ้อน

อาจทำให้เกิดบาดแผลไหม้ตรงผิวหนังและกินลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง ทำให้เป็นแผลไหม้สีเทาและไม่รู้สึกเจ็บ ถ้าบาดแผลมีขนาดใหญ่ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำเช่นเดียวกับบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก และอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้

บางรายอาจมีกระดูกสันหลังและกระดูกส่วนอื่น ๆ หัก เนื่องจากการชักกระตุกหรือตกจากที่สูง

บางรายอาจมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก มีอาการซีด เหลือง


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ

ในรายที่สงสัยมีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ทำการตรวจดูอาการต่าง ๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะช็อก ภาวะขาดน้ำ บาดเเผลไหม้ กระดูกหัก เป็นต้น และให้การรักษาตามอาการที่พบ

สำหรับบาดแผลไหม้ (ถ้ามี) จะให้การดูแลรักษาแบบบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แต่ควรระวังบาดแผลที่เห็นจากภายนอก แม้จะดูเล็กน้อยแต่เนื้อเยื่อส่วนลึกอาจถูกทำลายรุนแรง (ผู้ป่วยมักเป็นบาดแผลไฟไหม้ดีกรีที่ 3) ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ หรือมีเลือดออก หรือมีการติดเชื้อในเวลาต่อมาได้

การดูแลตนเอง

เมื่อพบผู้ป่วยถูกไฟฟ้าช็อต ควรทำการปฐมพยาบาล และรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที

การปฐมพยาบาล

เมื่อพบผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อต ควรรีบให้ความช่วยเหลือดังนี้

1. รีบปิดสวิตช์ไฟฟ้าหรือถอดปลั๊กไฟทันที

2. ถ้าทำไม่ได้ จำเป็นต้องช่วยให้ผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อตหลุดออกจากสายไฟที่มีกระแสไฟฟ้าวิ่งอยู่ โดยผู้ที่ทำการช่วยเหลือจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างสูง ต้องยืนอยู่บนฉนวนแห้ง ๆ เช่น ไม้กระดาน กระดาษหนังสือพิมพ์ ผ้าห่ม เสื่อ ผ้ายาง หรือผ้า แล้วใช้ด้ามไม้กวาด ไม้กระดาน ขาเก้าอี้ไม้ หรือไม้เท้าไม้ที่แห้ง เขี่ยสายไฟให้พ้นจากผู้ป่วย หรือดันร่างกายส่วนที่สัมผัสไฟให้หลุดออกจากสายไฟ

ห้ามใช้โลหะหรือวัตถุที่เปียกน้ำเป็นอันขาด ควรใช้ไม้หรือฉนวนไฟฟ้าที่แห้ง และห้ามมิให้แตะต้องถูกตัวผู้ป่วยโดยตรง จนกว่าจะหลุดพ้นออกจากสายไฟเสียก่อน

3. ตรวจดูการหายใจ ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการเป่าปากช่วยหายใจทันที ถ้าหัวใจหยุดเต้น (คลำชีพจรไม่ได้) ให้ทำการนวดหัวใจพร้อมกันไป จนกว่าจะหายใจได้เอง (อ่านเพิ่มเติมใน "อาการหมดสติ")

ถ้าผู้ป่วยหายใจได้เองแต่ยังหมดสติ ควรจัดผู้ป่วยให้อยู่ในท่าพักฟื้น และให้ทำการปฐมพยาบาล เช่นเดียวกับผู้ป่วยหมดสติจากสาเหตุอื่น ๆ (อ่านเพิ่มเติมใน "อาการหมดสติ")

4. รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด่วน และควรตรวจดูการหายใจอย่างใกล้ชิด ถ้าหยุดหายใจ ควรเป่าปากช่วยไปตลอดทางจนกว่าจะถึงโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด

ไฟฟ้าช็อต
การช่วยเหลือคนที่ถูกไฟฟ้าช็อต
ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์รองไว้ใต้เท้าของผู้ช่วยเหลือ

การป้องกัน

ควรหาทางป้องกัน ด้วยการติดตั้งและซ่อมแซมสายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยสูง (เช่น ปลั๊กไฟควรติดตั้งให้พ้นมือเด็กเล็ก อย่าให้เอาอะไรไปแหย่เล่นได้) และรู้จักใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าด้วยความระมัดระวัง