เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ไวรัสโควิด-19 นั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพปอดเป็นส่วนใหญ่ แต่จากข้อมูลที่ผ่านมาเรายังพบอีกว่า ไวรัสชนิดนี้ก่อให้เกิดความผิดปกติในอวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วยอยู่มาก รวมถึงส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและสมองโดยตรง ซึ่งอาการทางระบบประสาทที่พบในผู้ป่วยโควิด-19 ก็มีทั้งอาการที่ไม่รุนแรง เช่น อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ สูญเสียการรับกลิ่น สูญเสียการรับรส และอาการที่รุนแรง เช่น ภาวะสมองอักเสบ และหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน
ลองโควิด (Long COVID) กับผลกระทบทางสมอง
หลังจากผู้ป่วยหายจากโรคโควิด-19 แล้ว เราพบว่าหลายรายยังมีกลุ่มอาการเรื้อรังที่เกิดขึ้นในระบบต่างๆ ของร่างกาย ที่เรียกว่า ลองโควิด (Long COVID) และหนึ่งในนั้นก็คือ ภาวะสมองเสื่อมถอย สมองล้า โดยมักมีอาการแสดงดังต่อไปนี้
มีปัญหาทางด้านความจำ
ตัดสินใจไม่เด็ดขาด
สมาธิไม่ดี สมาธิสั้น
จิตใจล่องลอย ไม่สนใจสิ่งรอบตัว
ปวดหัว
ความคิดสับสน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมถอยและสมองล้า
มีการติดเชื้อระยะเฉียบพลันที่รุนแรง และมีภาวะสมองขาดออกซิเจน
ผู้ป่วยมีโรคทางสมองอยู่เดิม เช่น หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก
ผู้ป่วยมีอายุมาก และมีโรคร่วมหลายอย่าง
ผู้ป่วยมีโรคร่วมทางจิตเวช เช่น ซึมเศร้า และวิตกกังวล
วิธีการดูแลและฟื้นฟูตนเองให้อาการดีขึ้น
จริงๆ แล้วอาการ “สมองเสื่อมถอย” สามารถดีขึ้นเองได้เมื่อเวลาผ่านไป แต่หากผู้ป่วยมีการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม ก็จะเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยสามารถปฏิบัติดังนี้
รักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการกินอาหารที่ดีและมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ทำกิจกรรมที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นสมอง เช่น เล่นเกม ฝึกการคิดวิเคราะห์ หรือทำงานอดิเรกที่สร้างความผ่อนคลาย เช่น เล่นดนตรี ปลูกต้นไม้ ทำสมาธิ
ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือผู้สูงอายุที่มีโรคร่วมหลายอย่าง ควรกินยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ และติดตามการรักษาโรคที่เป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง
โควิด 35:Long COVID กับอาการทางสมองและระบบประสาท อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/covid-19