ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: หลอดเลือดแดงหลักของจอตาอุดตัน (Central retinal arte  (อ่าน 3 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 421
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: หลอดเลือดแดงหลักของจอตาอุดตัน (Central retinal artery occlusion, CRAO)

หลอดเลือดแดงหลักของจอตาอุดตัน เป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งที่ทำให้สายตาพิการที่เกิดขึ้นฉับพลันทันที โรคนี้พบได้ค่อนข้างน้อย (พบได้ประมาณ 1 รายต่อประชากร 100,000 คนต่อปี) มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ยอยู่ในช่วง 60 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนมากมักเกิดข้างเดียว มีเพียงราวร้อยละ 1-2 ที่พบว่าเกิดทั้ง 2 ข้าง

โรคนี้ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้ตาบอด และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ


สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีสิ่งหลุดอุดหลอดเลือด (embolus) ได้แก่ คราบไขมัน (cholesterol embolus) ซึ่งเกิดขึ้นที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ (carotid artery) และคราบหินปูน (calcified embolus) หรือลิ่มเลือด (thrombus) ซึ่งเกิดขึ้นที่หัวใจ หลุดลอยเข้าไปอุดตันในหลอดเลือดแดงหลักของจอตา ทำให้เซลล์ประสาทของจอตาขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดอาการตามืดบอดอย่างฉับพลัน

บางรายอาจเกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอตีบ (carotid stenosis) เลือดไหลเข้าไปในหลอดเลือดแดงหลักของจอตาได้น้อย จอตาจึงขาดเลือดไปเลี้ยง

ผู้ป่วยที่เกิดจากสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดจากคราบไขมันที่หลุดลอยมาจากหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ หรือภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอตีบ มักมีอายุมากกว่า 40-50 ปีขึ้นไป และมักมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน การสูบบุหรี่ เป็นต้น) หรือมีประวัติเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง) อยู่เดิม

ส่วนผู้ป่วยที่มีสาเหตุเกี่ยวกับความผิดปกติอื่น ๆ ของหัวใจ มักมีอายุน้อยกว่า 40 ปี และมักเกิดจากสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดจากคราบหินปูนซึ่งเกิดที่ลิ้นหัวใจที่ผิดปกติ นอกจากนี้ ยังอาจมีสาเหตุจากโรคหัวใจอื่น ๆ เช่น ภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว (atrial fibrillation ซึ่งก่อให้เกิดลิ่มเลือดหลุดลอยไปอุดตันในหลอดเลือดแดงหลักของจอตา) เยื่อบุหัวใจอักเสบ (endocarditis ซึ่งก่อให้เกิดสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดจากคราบเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อ หรือ septic embolus)

ผู้ป่วยส่วนน้อยอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น โรคเลือดข้นหรือภาวะเม็ดเลือดแดงมาก (polycythemia) ภาวะเลือดแข็งตัวเร็ว (จากการกินยาคุมกำเนิด ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด หรือจากสาเหตุอื่น ๆ) หลอดเลือดแดงขมับอักเสบ (temporal arteritis หรือ giant cell arteritis) ต้อหิน การฉีดสารเสพติด (ทำให้เกิดสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดจากสิ่งแปลกปลอม หรือ foreign body embolus)

อาการ

มีอาการตามืดมัวข้างเดียวอย่างฉับพลันทันที ภายในเวลาไม่กี่วินาที โดยที่ไม่มีอาการปวดตาร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะมีสายตามืดมัวรุนแรง จนอาจเหลือเพียงแค่นับนิ้ว (counting finger) ของผู้ตรวจ หรือเพียงบอกทิศทางที่มาของแสง (light perception) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและถาวร

บางรายอาจมีอาการตามืดบอดชั่วคราวนำมาก่อน นานแค่นับเป็นวินาทีหรือเป็นนาที (นานสุดไม่เกิน 2 ชั่วโมง) แล้วทุเลาเป็นปกติไปได้เอง เรียกว่า อาการตามืดบอดชั่วขณะ (amaurosis fugax) ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดแดงหลักของจอตาอุดตันเพียงชั่วคราว (transient CRAO)

ในรายที่เกิดหลอดเลือดแดงหลักของจอตาอุดตัน 2 ข้าง จะมีอาการมืดมัวพร้อมกันทั้ง  2 ข้าง


ภาวะแทรกซ้อน

ที่พบบ่อยคือ สายตามืดบอดถาวร เนื่องจากเซลล์ประสาทที่จอตาตายหรือเสื่อมสภาพอย่างถาวรหลังจากขาดเลือดนานเกิน 4 ชั่วโมง ซึ่งมีผู้ป่วยน้อยรายที่จะไปรับการรักษาจากแพทย์ได้ภายใน 4 ชั่วโมง

ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมีลิ่มเลือดอุดตัน (อัมพาตครึ่งซีก) และโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหนึ่งสัปดาห์หลังเป็นหลอดเลือดแดงหลักของจอตาอุดตัน

ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองมีลิ่มเลือดอุดตัน (อัมพาตครึ่งซีก) สูงเป็น 10 เท่าของคนทั่วไปในระยะ 3.5 ปีหลังเป็นหลอดเลือดแดงหลักของจอตาอุดตัน และยังคงมีความเสี่ยงต่อไปนานนับ 10 ปี

นอกจากนี้ อาจเกิดโรคต้อหินแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากการซักถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และตรวจพบว่าสายตามืดมัวรุนแรง (นับนิ้วได้ หรือเห็นแค่แสง)

แพทย์จะวินิจฉัยให้แน่ชัด ด้วยการใช้กล้องส่องตรวจในลูกตา (fundoscopy) และการใช้เครื่องมือพิเศษตรวจความผิดปกติของจอตาและหลอดเลือดจอตา เช่น fluorescein angiogram, optical coherent tomography (OCT), optical coherence tomography angiography (OCT-A) เป็นต้น

นอกจากนี้ จะทำการตรวจหาสาเหตุที่เกี่ยวข้อง เช่น ตรวจเลือด (ดูภาวะเม็ดเลือดแดงมาก ภาวะเลือดแข็งตัวเร็ว ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ภาวะการอักเสบในร่างกายจากโรคหลอดเลือดแดงขมับอักเสบ เป็นต้น) ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อัลตราซาวนด์หลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้มีโอกาสสูงที่จะเกิดอาการตามืดบอดอย่างถาวร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปล่อยให้มีอาการนานเกิน 4 ชั่วโมง

การรักษาจะได้ผลดีที่สุด คือ ต้องได้รับการรักษาจากจักษุแพทย์ภายใน 4 ชั่วโมงหลังมีอาการ

อย่างไรก็ตาม ในรายที่มาพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล และอาจทดลองรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

    การนวดตา (ocular massage) เชื่อว่าจะทำให้มีการขยายตัวของหลอดเลือดแดงและเพิ่มเลือดไปเลี้ยงที่จอตา
    การเจาะระบายน้ำในช่องลูกตาหน้า (anterior chamber paracentesis)
    การให้ยาเพื่อลดความดันลูกตา เช่น การให้ยา acetazolamide หรือ mannitol ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือให้กินยา glyceral 
    การอมยาใต้ลิ้นเพื่อขยายหลอดเลือด (sublingual isosorbide dinitrate)
    การบำบัดด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง (hyperbaric oxygen therapy) โดยให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ขณะอยู่ใน "ห้องปรับความดันบรรยากาศสูง (hyperbaric chamber)" ทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด
    การยิงแสงเลเซอร์ ทำให้สิ่งหลุดอุดหลอดเลือด (embolus) แตกตัว หลุดออกมาอยู่ในน้ำวุ้นลูกตา
    การให้ยาละลายลิ่มเลือด (thrombolytic agent) ได้แก่ tissue plasminogen activator (tPA) ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ โดยจะให้ภายใน 4 ชั่วโมงครึ่งหลังมีอาการ (สำหรับผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ได้ทัน)
    การให้ยาสเตียรอยด์ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงขมับอักเสบ

นอกจากนี้ หากตรวจพบโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจหรือสมอง ภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว ต้อหิน เป็นต้น แพทย์ก็จะให้ยารักษาโรคเหล่านี้ร่วมด้วย

ผลการรักษา ส่วนใหญ่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มีการอุดตันของหลอดเลือดแดงหลักของจอตารุนแรงหรือมีการอุดตันอย่างสมบูรณ์ หรือมาพบแพทย์ช้า (ปล่อยให้มีอาการนานกว่า 4 ชั่วโมง) มักจะเกิดอาการตามืดบอดถาวร

สำหรับผู้ป่วยที่มีการอุดตันของหลอดเลือดแดงหลักของจอตาไม่รุนแรง หรือมีการอุดตันเพียงบางส่วน หรือมีหลอดเลือดแดงแขนง (cilioretinal artery) มาเลี้ยงจอตา อาจมีอาการทุเลาได้หลังมีอาการนาน 2 สัปดาห์ไปแล้ว


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการตามืดมัวเกิดขึ้นฉับพลันทันที โดยไม่มีอาการปวดตา ควรไปปรึกษาแพทย์ทันที

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงหลักของจอตาอุดตัน ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    ดูแลรักษา ใช้ยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    ดูแลรักษาโรคที่เป็นปัจจัยของโรคนี้ (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น) ให้ได้ผล
    เลิกบุหรี่ (ถ้าสูบบุหรี่)

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการเจ็บหน้าอก หรือแขนขาชาหรืออ่อนแรง
    มีอาการปวดศีรษะรุนแรง ปวดตารุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ตาแดงหรือตามัวมากขึ้น
    มีสายตา (การมองเห็น) เลวลง หรือมีความวิตกกังวล
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ใช้ยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง คันตา ตาบวม ตาแดง ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

อาจป้องกันด้วยการลดการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) และควบคุมโรคหรือภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้  ดังนี้

1. บริโภคอาหารสุขภาพ โดยลดอาหารมัน หวาน เค็ม และบริโภคปลา ผัก ผลไม้ ธัญพืชให้มาก ๆ

2. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

3. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ

4. ไม่สูบบุหรี่

5. หมั่นตรวจสุขภาพเป็นระยะ หากพบว่าเป็นโรคที่เป็นปัจจัยของโรคนี้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว หลอดเลือดแดงขมับอักเสบ ภาวะเม็ดเลือดแดงมาก ภาวะเลือดแข็งตัวเร็ว ต้อหิน เป็นต้น ควรรักษากับแพทย์อย่างจริงจัง

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้แม้ว่าจะพบได้น้อย แต่มีความรุนแรงถึงทำให้ตาบอดถาวรได้ ซึ่งมักเกิดเพียงตาข้างเดียว ตาอีกข้างเป็นปกติ บางรายอาจเกิดทั้ง 2 ข้าง ทำให้มองไม่เห็น กระทบต่อคุณภาพชีวิตได้

ดังนั้น เมื่อสังเกตพบว่ามีอาการตามืดมัวเกิดขึ้นฉับพลันทันที ควรรีบไปพบแพทย์ทันที อย่าปล่อยให้มีอาการนานเกิน 4 ชั่วโมง หากมาพบแพทย์ช้าเกินไป การรักษาจะได้ผลน้อย

2. ภาวะหลอดเลือดจอตาอุดตัน (retinal vascular occlusion) อาจเกิดที่หลอดเลือดแดงหรือดำ ที่เป็นหลอดเลือดหลัก (central retinal artery/central retinal vein) หรือหลอดเลือดแขนงย่อย (branch retinal artery/branch retinal vein) ก็ได้ มักมีปัจจัยเสี่ยงและการป้องกันคล้ายกับโรคหลอดเลือดแดงหลักของจอตาอุดตัน และมีอาการคล้ายกัน คือ อาการตามืดมัวทันที โดยไม่มีอาการปวดตา (ถ้ามีอาการปวดตาร่วมด้วย มักเกิดจากสาเหตุร้ายแรงอื่น เช่น ต้อหินชนิดเฉียบพลัน)

ภาวะหลอดเลือดจอตาอุดตัน จะมีอาการรุนแรงมากน้อยขึ้นกับตำแหน่งและขนาดของการอุดตัน ถ้าเกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงหรือดำหลัก มักมีอาการมืดมัวทั้งตาอย่างรุนแรงและถาวร ถ้าเกิดที่หลอดเลือดแขนงย่อย มักมีอาการมืดมัวเพียงบางส่วน รุนแรงไม่มากและมักจะทุเลาได้เอง อย่างไรก็ตาม หากมีอาการตามืดมัวฉับพลันทันที ควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมตามสาเหตุที่พบ

3. ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงหลักของจอตาอุดตัน มักพบว่ามีโรคอื่น ๆ และปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ร่วมด้วย และอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจตามมา จึงควรทำการรักษาโรคและควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่พบควบคู่กันไป เพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้กำเริบซ้ำ และป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด